รู้เรื่องเบาหวาน รู้เรื่องสุขภาพ

ประเภทของโรคเบาหวาน
ปัจจุบันเราสามารถแบ่งประเภทเบาหวานออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. โรคเบาหวานประเภทที่ต้องพึ่งอินซูลิน จะเป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือการแพ้สารเคมีบางอย่าง โรคเบาหวานประเภทนี้ร่างกายของผู้ป่วยจะไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย หรือถ้าผลิตได้ก็จะน้อยมากจึงไม่พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยต้องทำการรักษาด้วยวิธีการฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายทางกล้ามเนื้อ

2. โรคเบาหวานประเภทที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน โรคเบาหวานประเภทนี้จะเป็นโรคเบาหวานที่เกิดจาก ความอ้วน เมื่ออายุมากขึ้น คุณแม่ขณะตั้งครรภ์ และผู้ใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานประเภทนี้ร่างกายยังสามารถผลิตอินซูลินได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แพทย์จะใช้วิธีการรักษาด้วยการให้ยาเม็ดสำหรับรับประทานเพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด แต่บางครั้งถ้าระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากจนเกินไปก็อาจจะมีการฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายเป็นครั้งคราว เพื่อช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดร่วมด้วย

สาเหตุของโรคเบาหวาน
สาเหตุทั่วไปของการเกิดโรคเบาหวานนั้นจะได้แก่ กรณีที่ตับอ่อนที่มีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ โดยไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สำหรับฮอร์โมนอินซูลินจะเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการพาน้ำตาลในกระแสเลือดไปยังเซลล์ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อใช้เป็นพลังงาน โดยน้ำตาลในกระแสเลือดจะเกิดจากในกรณีที่เรารับประทานแป้งและน้ำตาลเข้าไป สำหรับแป้งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกกระบวนการของร่างกายทำการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและนำเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฮอร์โมนอินซูลินต่อไป ถ้าฮอร์โมนอินซูลินมีปริมาณน้อยจนเกินไปไม่พอเพียงในการนำน้ำตาลไปยังเซลล์ต่างๆ ได้ ทำให้เกิดมีน้ำตาลตกค้างอยู่ในกระแสเลือด และถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานขึ้นได้

กลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดเป็นโรคเบาหวานได้นั้น พอจะแบ่งได้ดังนี้

1. ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่น้อง หรือญาติ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้าอา ป่วยเป็นโรคเบาหวาน คุณก็จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคเบาหวานกันทุกคน ถ้าเราดูแลตัวเองดีก็อาจจะไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ได้เช่นกัน

2. คนอ้วนที่มีน้ำหนักร่างกายมากกว่าปกติ เพราะไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะมีส่วนทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพดีพอ หรือที่เรียกกันว่าเกิดภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน

3. ผู้สูงอายุ โรคเบาหวานมักพบมากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป เพราะเมื่อเราเริ่มอายุมากขึ้น อวัยวะภายในต่างๆ จะเสื่อมสภาพลงไปตามกาลเวลา รวมไปถึงตับอ่อนที่มีหน้าที่ในการผลิตอินซูลินก็จะผลิตอินซูลินได้น้อยลง จึงทำให้ไม่พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย เราจึงพบคนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะเป็นผู้สูงอายุ แต่ถ้าผู้สูงอายุดูแลตัวเองให้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะห่างไกลจากโรคเบาหวานได้เช่นกัน

4. คุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เพราะจะมีฮอร์โมนตัวหนึ่งในรก ที่มีส่วนทำให้ตับผลิตน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น จึงทำให้คุณแม่ขณะตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวาน

5. ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดเป็นประจำ ก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน

6. ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายจะมีส่วนทำให้ร่างกายเผาพลาญได้ดีขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น

อาการเบื้องต้นของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่จะทราบได้ก็ต่อเมื่อทำการตรวจร่างกายด้วยการเจาะเลือดเพื่อหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้ทำการตรวจเลือดก็จะไม่ทราบได้เลยว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่ สำหรับอาการที่จะแสดงว่าเราอาจจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคเบาหวานได้นั้น จะได้แก่

1. ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนผู้ป่วยจะลุกขึ้นมาปัสสาวะเกือบตลอดเวลา และปัสสาวะออกเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยเด็กอาจจะเกิดการปัสสาวะรดที่นอน และถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็อาจจะมีมดมาตอมปัสสาวะได้

2. กระหายน้ำเกือบตลอดเวลาเช่นกัน รวมทั้งดื่มมากเท่าไรก็ไม่รู้สึกว่าจะช่วยดับกระหายได้เลย เนื่องจากร่างกายต้องขับน้ำออกมาทางปัสสาวะเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เรารู้สึกกระหายน้ำตามไปด้วย เพราะร่างกายต้องการน้ำเพื่อไปทดแทนน้ำที่สูญเสียไป

3. รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่มีแรง และปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถเผาพลาญน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานได้ ทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนพักผ่อนไม่พอแม้จะนอนมากแล้วก็ตาม

4. น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดจากการที่ร่างกายทำการเผาพลาญไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล ทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ทำการลดน้ำหนัก

5. เกิดการติดเชื้อราตามผิวหนัง มีอาการคันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เนื่องจากร่างกายขาดน้ำทำให้ผิวหนังแห้งจึงเกิดการติดเชื้อราได้ง่าย

6. เกิดเป็นฝีขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นประจำ นอกจากนี้แล้วถ้าเกิดมีบาดแผลขึ้น บาดแผลจะหายช้ากว่าปกติ

7. มีอาการตาพล่ามัว มองเห็นไม่ค่อยชัด รวมไปถึงผู้ที่สวมแว่นสายตาเป็นประจำ มักจะต้องทำการเปลี่ยนแว่นบ่อยกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายพยายามขับน้ำตาลออกมาทางเลนส์ตา จึงมีผลทำให้ผู้ป่วยมีสายตาพล่ามัวมองเห็นไม่ชัดเจน

วิธีการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถป้องกันและดูแลตัวเองในเรื่องต่างๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ สำหรับวิธีการดูแลตัวเองจะได้แก่

1. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยให้หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง แต่ควรรับประทานอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ร่างกายจะได้สามารถนำสารอาหารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างพอเพียง

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งไม่ควรน้อยกว่า 30 นาที และควรออกกำลังกายให้สมกับวัยหรือสภาพร่างกายของแต่ละคน

3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เรานอนหลับ

4. ถ้ามีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ควรหาวิธีควบคุมน้ำหนัก

5. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และทุกครั้งที่ทำการตรวจร่างกายควรเจาะเลือดเพื่อหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด เพราะโรคเบาหวานถ้าทราบได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกจะทำให้ผลการรักษาเป็นไปได้ด้วยดี

โรคเบาหวานถึงจะเป็นโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่การดูแลตัวเองในเรื่องต่างๆ ดังที่กล่าวมาก็จะมีส่วนช่วยทำให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงและห่างไกลจากโรคเบาหวานได้เช่นกัน