โรคหัวใจ โรคยอดฮิตของคนไทย

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเดี๋ยวนี้คนเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น หลายคนรู้ตัวก่อนก็สามารถรักษาไว้ได้ทันเวลา แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่ไม่มีอาการแสดงใดๆ เมื่อรู้ตัวก็อาจสายไปเสียแล้ว ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เราน่าจะมาทำความรู้จัก “โรคหัวใจ” ให้มากขึ้นกันดีกว่า

ไลฟ์สไตล์เกี่ยวเนื่องกับหัวใจโดยตรง

  • ไม่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ เพราะเดี๋ยวนี้หนุ่มสาววัยทำงานก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปทำให้การใช้ชีวิตไร้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น การกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เครียดจากการทำงาน ขาดการออกกำลังกาย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงได้ทั้งสิ้น และยิ่งหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคเบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดและความดันโลหิตสูงด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจด้วย

รู้จัก “โรคหัวใจ”

  • โรคหัวใจ (Heart Disease) คือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คนเลยทีเดียว

พฤติกรรมการใช้ชีวิต…เป็นสิ่งสำคัญ

  • สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นมักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การสูบหรือสูดดมควันบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสหวาน และอาหารเค็ม และยังรวมไปถึงน้ำหนักตัว ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

สัญญานเตือน “โรคหัวใจ” ที่ต้องสังเกต
– เหนื่อยง่าย เวลาออกกําลังกาย หรือเดินเร็วๆ หายใจเข้าได้ลำบาก อาจจะเป็นตลอดเวลา เป็นขณะออกกำลังกาย หรือใช้แรงมาก หรือเป็นเฉพาะในเวลากลางคืน
– เจ็บหน้าอก หรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก หรือด้านซ้าย หรือทั้ง 2 ด้าน ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก
– มีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก
– เป็นลมหมดสติไม่ทราบสาเหตุ
– ขา หรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น “โรคหัวใจ”

  • วิธีที่จะรู้ว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้น ก็ต้องเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ซึ่งในการตรวจโรคหัวใจนั้นแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจเหล่านี้

– ซักประวัติ หรือสอบถามประวัติ อาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
– ตรวจร่างกายทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต
– ตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กไปวางตามจุดต่างๆ ของร่างกาย
– ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือ การให้ผู้ป่วยเดิน หรือวิ่งบนสายพานเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และดูการการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
– สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เพื่อดูกายวิภาคของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ การเคลื่อนที่และการบีบตัว
– ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery) เพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบจากการมีไขมันไปเกาะหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย
– หากเกิดข้อสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ การตรวจที่จะบอกได้แน่ชัด คือ การตรวจฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจหรือ ที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ

ไม่อยากเป็นโรคหัวใจ…ก็ต้องรู้จักดูแลตัวเอง

  • เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ถ้าอยากมีชีวิตที่ยืนยาว ก็ควร งดสูบบุรี่ หลีกเลี่ยงน้ำชา กาแฟ ของเสพติดมึนเมา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงความเครียด ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยมากขึ้น นอกจากนี้ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ