รู้ทันนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี ที่เหมือนจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และสาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดีก็เป็นพฤติกรรมใกล้ตัวซะด้วย อย่างคนชอบกินหมูติดมัน หรือติดกินหมูกระทะบ่อย ๆ พฤติกรรมเหล่านี้พาเราเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดีจริงหรือเปล่า เรามารู้จักโรคนิ่วในถุงน้ำดี พร้อมเช็กพฤติกรรมเสี่ยงโรคนี้กันค่ะ

นิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร

นิ่วในถุงน้ำดี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gallstones หรือ Cholelithiasis โดยนิ่วในถุงน้ำดีเป็นสารเคมีจากถุงน้ำดีที่เกิดการตกผลึก กระทั่งจับตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้นมา ซึ่งก้อนนิ่วในถุงน้ำดีอาจมีขนาดเท่าเม็ดทรายหรืออาจมีขนาดใหญ่เท่าลูกปิงปองก็ได้ และอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือเป็นร้อย ๆ ก้อนก็ได้เช่นกัน

 

นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากอะไร

ถุงน้ำดีมีหน้าที่เก็บสะสมน้ำดีที่ตับสร้างไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้น้ำดีย่อยอาหารประเภทไขมัน โดยในน้ำดีจะประกอบไปด้วยสารคอเลสเตอรอล กรดน้ำดี สารฟอสโฟไลปิด และสารอื่น ๆ ทว่าหากสารเคมีดังกล่าวในถุงน้ำดีมีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกัน หรือมีการคั่งของน้ำดีในท่อในถุงน้ำดีมากกว่าปกติ น้ำดีก็จะตกเป็นผลึก จับตัวเป็นก้อนที่เรียกว่าก้อนนิ่วขึ้นมาได้

ทั้งนี้นิ่วในถุงน้ำดีสามารถแยกออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ นิ่วชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stone) โดยมีปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากผิดปกติ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงแต่อย่างใด และนิ่วชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง มีสีออกเหลืองหรือเขียว

อีกชนิดคือนิ่วที่เกิดจากสารให้สี (Pigment stone) ที่ชื่อว่าสารบิลิรูบิน (Bilirubin) เป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ ลักษณะของก้อนนิ่วจะเป็นก้อนเล็ก ๆ แข็งน้อยกว่านิ่วชนิดแรก และก้อนนิ่วจะมีสีดำคล้ำ

นอกจากนี้ยังอาจพบนิ่วในถุงน้ำดีที่มีส่วนผสมของสารหลายชนิดรวมกัน ทั้งสารบิลิรูบินและคอเลสเตอรอลในน้ำดี กลายเป็นนิ่วชนิดผสม หรือที่เรียกว่า Mixed gallstone

นิ่วในถุงน้ำดี อาการเป็นอย่างไร

อาการของคนมีนิ่วในถุงน้ำดี สามารถสังเกตได้จากสัญญาณผิดปกติของร่างกายตามนี้เลยค่ะ

– ท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนมีลมในท้อง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก

– แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก

– ปวดท้องข้างขวา (ใต้ชายโครงขวา) เป็นครั้งคราว

– ปวดท้องข้างขวาอย่างรุนแรง และมักจะปวดร้าวไปถึงสะบักด้านขวาร่วมด้วย

– มีไข้สูงเฉียบพลัน (ในกรณีที่มีการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน)

– คลื่นไส้ อาเจียน

– ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม

– อุจจาระมีสีซีดลงเนื่องจากลำไส้ขาดน้ำดี

อย่างไรก็ตาม คนที่มีนิ่วในถุงน้ำดีอาจไม่มีอาการแสดงข้างต้น เพราะอาจมีก้อนนิ้วที่เล็ก หรือฝังตัวอยู่ลึกในก้นถุงน้ำดีก็เป็นได้ แต่หากก้อนนิ่วออกมาอุดกั้นบริเวณท่อน้ำดี อาการแสดงจะค่อนข้างชัด เช่น มีอาการปวดท้องเฉียบพลันและรุนแรง ปวดท้องในลักษณะปวดบิดเกร็ง โดยแต่ละครั้งจะมีอาการปวดนานประมาณ 15-30 นาที หรือนานกว่า 2-6 ชั่วโมงเลยก็ได้ แต่อาการปวดท้องเนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีจะเป็น ๆ หาย ๆ มักไม่ใช่อาการปวดท้องทุกวัน จะตรวจพบว่ามีนิ่วก็ต่อเมื่ออัลตราซาวด์